ข่าวประชาสัมพันธ์

TMECพลิกโฉมการเข้าถึงเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์

TMECศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ โชว์ความก้าวหน้าอุตสาหกรรมไฮเทค ทั้งการพัฒนาวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ จนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ สู่ความลำยุคของอุตสาหกรรมไทย

ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center: TMEC) ต.วังตะเคียน อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมนักวิจัยพบปะสื่อมวลชนหัวข้อ TMEC พลิกโฉมการเข้าถึงเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สวทช. กล่าวว่า TMEC เป็นโรงงานรองรับการผลิตเวเฟอร์ MEMS ระดับต้นแบบ จนถึงเชิงพาณิชย์ ให้คำปรึกษาตั้งแต่แนวคิดเริ่มต้นพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ MEMS ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของลูกค้า ออกแบบโครงสร้าง วัสดุ จำลองการทำงานก่อนสร้างจริง ปรับปรุงดีไซน์ให้เหมาะสมกับสายการผลิต ผลิตเวเฟอร์ MEMS ด้วยมาตรฐานระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การทดสอบคุณสมบัติทางไฟฟ้าต่าง ๆ ของเวเฟอร์ MEMS ที่ผลิตได้ 100% ลูกค้าของ TMEC ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ที่ต้องการให้พัฒนาระบบอัจฉริยะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น พัฒนาไมโครโฟนขนาดเล็กในโทรศัพท์มือถือให้ได้คุณภาพเสียงที่ดี ไม่มีเสียงรบกวน เซนเซอร์แบบไจโรสโคป ตรวจจับการเอียงหรือการหมุนของอุปกรณ์ เช่น สมาร์ทโฟน โดรน หรือสมาร์ทวอทช์ สินค้าประเภทนี้ต้องการเทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาและผลิต

ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ

         ลูกค้าส่วนมากที่มาติดต่อ TMEC ต้องการให้พัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตด้วย เทียบกับหน่วยงานวิจัยอื่น ๆ ลูกค้าอาจเคยติดต่อ ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ หน่วยวิจัยเหล่านั้น มักทำวิจัยเพื่อ Paper นวัตกรรม หรือจดสิทธิบัตร ไม่พร้อมที่จะผลิตในเชิงพาณิชย์ หรือมีโรงงานที่เน้นการผลิตจำนวนมาก (Mass production) ไม่เน้นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ลูกค้ามีปัญหาการหาผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม”

         ดร.วุฒินันท์ กล่าวอีกว่า TMEC สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการวิจัย พร้อมจะผลิตให้กับได้จริง  ลูกค้าจากอเมริกา ยุโรป จีน และเกาหลี เลือก TMEC เพราะเป็นศูนย์วิจัยที่ทั้งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ผลิตได้จริง มีจุดแข็งที่ไม่มีใครเหมือน เพราะหลายบริษัทยังเลือกผลิตจำนวนมาก ไม่ต้องการหาลูกค้าใหม่ตลอดเวลา การที่ TMEC พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขายในตลาดต่างประเทศได้ จะเสริมสร้างอุตสาหกรรมไทย เป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทย ที่สร้างนวัตกรรมและรายได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง

การทำงานที่ผ่านมาของ TMEC รวมไปถึงการออกแบบวงจร IC และ PCB (Printed Circuit Board) ในการใช้งานทั้งระบบนิเวศของอุตสาหกรรมตั้งแต่การผลิตชิป งานออกแบบ ระบบการผลิต PCB ครอบคลุมถึงการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมบุคลากรในสาขานี้ กระทรวง อว. คาดว่าการพัฒนาบุคลากรจะมีถึง 80,000 คน ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม PCB ในการประกอบ (PCBA) รองลงมาคือ Chip Packaging และ Semiconductor  การทำงานแบบบูรณาการร่วมกับสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ประเทศไทยและสถาบันไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์  การพัฒนาอุตสาหกรรมทางด้านแผ่นวงจรพิมพ์และการออกแบบวงจรรวมตามลำดับ โดยการสนับสนุนจาก บพข. สกสว. และสำนักงานปลัดกระทรวง อว.

“การลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม Semiconductor ในประเทศไทย ที่จะมีโรงงานใหม่เปิดอย่างเป็นทางการ ของ บริษัท ฮานาไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่ม ปตท. ร่วมทุนสร้าง บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (FT1 Corporation Limited) เพื่อผลิตชิปต้นน้ำ (Wafer Fabrication) แห่งแรกของประเทศ คาดว่าจะเสร็จในไตรมาสแรก ของปี 2570  ทางTMEC มีบทบาทการพัฒนาบุคลากรให้กับ FT1 หรือบริษัท ใดๆ ที่จะลงทุนทางด้านนี้  ปัจจุบัน TMEC เป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรด้านนี้มากที่สุดของประเทศ ประมาณ 50 คน เป็นแหล่งเดียวที่มีกระบวนการผลิตเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) ที่สมบูรณ์มากที่สุดของประเทศ เป็นหน่วยงานของรัฐ  ทำให้การพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่ต้องพึ่งพาบุคลากรจากต่างชาติ ในช่วงเริ่มต้น

TMEC ยังสนับสนุนการพัฒนากำลังคนรองรับการเติบโตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ทำงานร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อพัฒนาวิศวกร (Engineer) ที่จะเป็นกำลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์  ตลอดจนการพัฒนาบุคคลากรระดับปริญญาตรี โท และเอก เพื่อความพร้อมในในอุตสาหกรรม ด้านวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยการนำโครงการที่ TMEC ต้องดำเนินการมาทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาบุคลากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม

ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ TMEC เป็นพันธมิตรด้านเซมิคอนดักเตอร์ (TMEC MEMS Foundry) แห่งแรกของไทย ที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมไทย ให้บริการพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ MEMS ตั้งแต่การออกแบบ สร้างต้นแบบ การทดสอบ ไปจนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศ ที่มีบทบาทในการเสริมสร้างกำลังคนเพื่อรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคต