นักวิจัย ม.ขอนแก่น ทุน บพท.แก้จุดอ่อนการเลี้ยงจิ้งหรีด เจอต้นทุนสูงเพราะซื้ออาหารสำเร็จรูป กลับมาพัฒนาสูตรเอง พร้อมเปลี่ยนวิธีคิดจากวิถีชีวิตเป็นธุรกิจ ผลิต ขาย แปรรูป วางระบบตลาด ครบวงจร
ดร.อนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการเพิ่มขีดวามสามารถผู้ประกอบการผ่านกระบวนการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทุนสนับสนุนของหน่วยบริการและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ขับเคลื่อนงาน 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด พบว่าตลาดจิ้งหรีดมีมูลค่ารวม 23 ล้านบาท แต่เม็ดเงินไปถึงมือกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่เพียง 7 ล้านบาท เพราะเกษตรกรต้องซื้ออาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูปจากนอกพื้นที่ ดังนั้นสิ่งที่ดำเนินการต้นน้ำคือการพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อให้เกิด “ผู้ผลิตอาหารจิ้งหรีดในพื้นที่” ตั้งแต่วัตถุดิบจากอาหารสัตว์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่ เพื่อปิดช่องว่าง ลดการพึ่งพิงห่วงโซ่ (Chain) จากนอกพื้นที่ ออกแบบการจัดการธุรกิจที่จะทำให้รายได้กระจายสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างทั่วถึงและเหมาะสม
ทีมวิจัย ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร 11 กลุ่ม 124 คน ทำงานร่วมกันช่วยให้เกษตรกรผลิตอาหารจิ้งหรีดต้นทุนต่ำโดยใช้ทรัพยากรพื้นถิ่น โดยสูตรอาหารสำเร็จรูปสูตรใหม่ ลดต้นทุนการผลิตจิ้งหรีดจาก กก.ละ 71.99 บาทจิ้งหรีด เหลือเพียง กก.ละ61.06 บาท
ทีมวิจัยให้ความรู้การดำเนินธุรกิจ เป็นทั้งพี่เลี้ยง โค้ชให้กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง มีทักษะการบริหารจัดการเชิงธุรกิจในแบบธุรกิจปันกัน วิถีแห่งการเกื้อกูล สร้างผู้รวบรวมในพื้นที่ เป็นโซ่ข้อกลางที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม
นายภูดิส หาญสวัสดิ์ ตัวแทนผู้ประกอบการจากภูดิศ บั๊กฟาร์ม และวิสาหกิจชุมชนจิ้งหรีดอำเภอโนนศิลา จ.ขอนแก่น กล่าวว่า หากควบคุมปัจจัยการผลิตด้านความสะอาด อาหาร และอุณหภูมิได้ ด้วยเทคนิคและวิธีการใหม่ จะลดเวลาการผลิตจิ้งหรีดจาก 45 วัน เหลือเพียง 34-36 วัน
ดร.อนุวรรตน์ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้มองว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นธุรกิจ มองเป็นวิถีชีวิตที่คล้าย ๆ กับการทำนา จึงต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ เสริมมุมมองการทำธุรกิจให้รู้ว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดก็คือการลงทุนทำธุรกิจ ได้เงินมาต้องจัดการแบ่งส่วนไว้สำหรับการเลี้ยงรอบต่อไป เพื่อไม่เป็นหนี้เพิ่ม เป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้นอกจากต้องการให้เกษตรกรมีศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้คุณภาพแล้ว ยังต้องจัดการธุรกิจของตนเองได้ วิเคราะห์ทิศทางหรือเป้าหมาย โดยเฉพาะตลาด ศึกษามาตรฐานของผลผลิตจิ้งหรีดที่เข้าเกณฑ์การส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ความสนใจหรือคุณค่า ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ยิ่งขึ้น
เกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม ที่เข้าร่วมโครงการ ได้รวมตัวเป็นเครือข่ายความร่วมมือหน่วยธุรกิจในพื้นที่ สร้างอำนาจการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเรื่องอาหาร การจัดหาจิ้งหรีดให้ได้ตามออร์เดอร์ ระยะต่อไปทีมวิจัยตั้งเป้าจะยกระดับเป็นเครือข่ายธุรกิจ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอีกหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นางอรวรรณ วอทอง นักวิจัยชุมชน หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี จ.กาฬสินธุ์ ได้รับรางวัล “เลิศรัฐ” รางวัลระดับประเทศ ด้านจิ้งหรีดปลดหนี้แก้จน ประเภทรางวัลดีเด่น เมื่อปี 2567 กล่าวว่า เดิมเราเลี้ยงจิ้งหรีดขายตามฤดูกาล ขายพ่อค้าคนกลาง โดนกดราคา การเลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน จึงตัดสินใจกู้เงินจาก ธกส. ได้รับการหนุนเสริมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำแผนธุรกิจ ทำโรงเรือนจิ้งหรีด เป็นพี่เลี้ยงพาเราเรียนรู้ ลงมือทำด้วยกัน พัฒนาจนได้มาตรฐานฟาร์ม GAP ปรับกระบวนการเลี้ยง จนผลิตจิ้งหรีดคุณภาพ มีเงินมาชำระหนี้จากการสร้างโรงเรือน จนปลดหนี้ได้ในปีนี้ จัดการเงินหมุนเวียนเพื่อการลงทุนต่อไปได้
นางอรวรรณ กล่าวว่า แม้ปรับเปลี่ยนกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดและนวัตกรรมการผลิตที่มีคุณภาพแล้ว วางแผนธุรกิจ บันทึกรายรับ-รายจ่าย วางแผนการผลิตได้ แต่ สิ่งที่ผู้เลี้ยงจิ้งหรีดอยากเห็น คือตลาดกลางหรือจุดรวมจิ้งหรีดระดับภูมิภาค ช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดได้เดินตามเส้นทางของธุรกิจที่เป็นธรรม ไม่ถูกตัดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป
“การเลี้ยงจิ้งหรีด ไม่มีการแข่งขัน หากเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายได้ แบ่งปันกันได้ ทั้งความรู้ นวัตกรรม และตลาด ก็จะเกิดความยั่งยืนในกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและผู้ประกอบการที่เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ทั้งเกษตรกร คนตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง ก็กลับมาเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมอยู่ในชุมชนได้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี มีผลิตภัณฑ์เป็นจิ้งหรีดตัว แต่ก็มองถึงการก้าวไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการส่งออกอย่างมีมาตรฐาน
จิ้งหรีดสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยเฉพาะในชนบทที่มีพื้นที่จำกัด เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในไทยมีมากกว่า 20,000 ราย มากกว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและส่งออกต่างประเทศ กลับเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ภาคกลาง และอื่น ๆ