ข่าวประชาสัมพันธ์

หุ่นยนต์ + AI + เกม ฟื้นฟูผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงรับยุคสังคมสูงวัย

ทีมวิจัย มจธ. พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบช่วยกายภาพบำบัดผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ใช้AIร่วมกับเกม ช่วยฟื้นฟูแบบแม่นยำ สนุก มีประสิทธิภาพ

ดร.ปฏิยุทธ พรามแก้ว อาจารย์โครงการร่วมบริหารหลักสูตรฯ (มีเดีย) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ผศ.ดร. ฐิตาภรณ์ กนกรัตน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ผศ. ดร.มหศักดิ์ เกตุฉ่ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผศ. ดร.นฤมล ชูเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และ ดร.วรวุทธิ์ ยิ้มแย้ม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนา “หุ่นยนต์ต้นแบบช่วยกายภาพบำบัดผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และเกม” พัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่ใช้งานได้จริงสำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขา พร้อมระบบเกม ออกแบบโดยเฉพาะเพื่อกระตุ้นการขยับร่างกายที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยความร่วมมือจากแพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ที่ใช้ความต้องการของผู้ป่วยเป็นโจทย์การพัฒนา

ดร.ปฏิยุทธ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า หุ่นยนต์ต้นแบบนี้ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ อุปกรณ์กายภาพบำบัด ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ ปรับน้ำหนัก แรงต้าน ตำแหน่งให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย และระบบเกมแบบจำลองสถานการณ์ (Simulation Game) ใช้การขยับกล้ามเนื้อขา ควบคุมเกม ออกแบบให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย เช่น ขนาดตัวอักษร หน้าจอแสดงผล รูปแบบการโต้ตอบ การวางปุ่ม ระบบให้คะแนนที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นพัฒนาการของผู้ใช้ ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการติดตาม วิเคราะห์ ปรับระดับความยากง่ายให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้ป่วยแต่ละคน ช่วยให้การฝึกมีประสิทธิภาพ ประเมินผลได้แม่นยำ

ผศ.ดร. ฐิตาภรณ์ กล่าวว่าหุ่นยนต์ต้นแบบดังกล่าว สร้างประโยชน์ทางสังคมและอุตสาหกรรม นำไปต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ นำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟู ชุมชนผู้สูงอายุ การใช้งานภายในครัวเรือน ขยายโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีฟื้นฟูสุขภาพอย่างทั่วถึง เพิ่มการเข้าถึงบริการฟื้นฟูที่มีคุณภาพ ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในระยะยาว ส่งเสริมให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ด้วยงบประมาณไม่สูง

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2568 เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับโจทย์ทางสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม มีศักยภาพการพัฒนาต่อยอด ตอบสนองนโยบายด้านสาธารณสุขในสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

ในระยะต่อไป มีแผนจะพัฒนาอุปกรณ์และเกมให้ใช้กับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้ที่มีภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดที่ต้องการฟื้นฟูการเคลื่อนไหว โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเร่งการผลิตต้นแบบให้ใช้จริงได้ในวงกว้าง

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี 2583 จะมีผู้สูงอายุสัดส่วนมากกว่า 32% ของประชากรทั้งหมด หรือ 20 ล้านคน ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรังและภาวะเสื่อมของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไมแอสทีเนียเกรวิส  ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถการเคลื่อนไหว ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้