ทีมวิจัย ม.ฟาฏอนี จ.ปัตตานี สร้างมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ AHSAN Trustmark (อาห์ซานทรัสมาร์ค) ให้ธุรกิจที่ผลิตตามวิถีมุสลิมที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ภายใต้คุณค่า 5 ประการ จาก “คน-ของ-ตลาด โมเดล” ของ บพท.
ผศ. ดร.มัฮซูม สะตีแม จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เปิดเผยว่า จากการที่คณะวิจัยได้ดำเนินงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2565 ทำให้เกิดนวัตกรรม AHSAN Trustmark (อาห์ซานทรัสมาร์ค) มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินตามคุณค่าความศรัทธาขั้นสูงสุดตามหลักพื้นฐานของศาสนาอิสลาม และชาวมุสลิมทั่วโลกเข้าใจความหมายของ AHSAN ดีว่าหมายถึง “สิ่งที่ดีที่สุด” เป็นการประกอบธุรกิจในวิถีมุสลิมที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล โดยไม่ขัดต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ประกอบอาชีพ/ธุรกิจเพื่อสร้างรายได้หรือกำไรด้วยความมุ่งมั่นพยายาม ทำอย่างดีที่สุดเพื่อพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ จริงใจต่อผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องและบูรณาการอย่างลงตัวกับหลักการดำเนินธุรกิจชุมชนด้วยคุณค่า 5 ประการ (5L- Localism) ที่เรียนรู้จาก “คน-ของ-ตลาด โมเดล” ของ บพท. ซึ่งเป็นกลไกสร้างคุณค่าและความยั่งยืนให้ธุรกิจชุมชนเกื้อกูล
AHSAN Trustmark (อาห์ซานทรัสมาร์ค) “มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์” จากงานวิจัยโดย มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ร่วมกับกรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สินค้าที่ได้การรับรองจากมาตรฐาน AHSAN Trustmark บ่งบอกถึงคุณภาพสินค้าและคุณค่าทางจิตใจและความศรัทธา สินค้าต้องมาจากผู้ประกอบการที่มีหลักในการดำเนินธุรกิจชุมชน หรือ 5L ได้แก่ 1. Local Wisdom and Culture การดำเนินธุรกิจต้องไม่ขัดกับหลักการศาสนาและวัฒนธรรมที่ดีงาม มีการสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น 2. Local Employment and Resources ยกระดับผู้ผลิตต้นน้ำ ให้สร้าง/จ้างงานคนในพื้นถิ่น ใช้ทรัพยากรหรือวัตถุดิบในพื้นถิ่น หรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า 3. Local Community & Network สร้างเครือข่ายชุมชน หรือเครือข่ายธุรกิจชุมชน รวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันองค์ความรู้ เทคนิค วัตถุดิบ โอกาสหรือตลาดรองรับสินค้า 4. Local Economy ทำให้ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจชุมชนยาวขึ้น ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตมากขึ้นและสามารถเติบโตไปด้วยกัน 5. Local Support คืนกำไรกลับสู่สังคมเมื่อธุรกิจดำเนินไปจนมีกำไรสุทธิ ร้อยละ 2.5 หรือที่เรียกว่า “ซะกาต” เพื่อดูแล และแบ่งปันให้กับบุคคล 8 กลุ่มตามหลักการของศาสนาอิสลาม ผู้ประกอบการท้องถิ่นมักจะนำซะกาตไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ ขัดสน หากมีการจัดระบบซะกาตที่มีประสิทธิภาพจะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้อีกมากมาย กระบวนการวิจัยดังกล่าว นับเป็นการพัฒนาความเข้มแข็งในระบบซะกาตของประเทศไทยด้วย
การรับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark มีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการควรนำกำไรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 บริจาคเพื่อสาธารณะกุศล หรือ ที่เรียกว่า วากัฟ การให้โดยสมัครใจ บ่งบอกถึงการเสียสละเพื่อส่วนรวม ผศ.ดร.มัฮซูม ย้ำว่า มาตรฐาน AHSAN Trustmark เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการธุรกิจทั่วไปทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศที่จะส่งออกสินค้าให้กับผู้บริโภคชาวมุสลิม มีส่วนร่วมในการขอรับรองมาตรฐานดังกล่าวได้ด้วย โดยยึดหลักธุรกิจชุมชน 5L- Localism ส่วนเงื่อนไขการสนับสนุนชุมชน Local Support ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่มุสลิมนำหลักฐาน/ใบเสร็จการนำกำไรของธุรกิจไปบริจาค หรือให้คืนกลับสู่สังคมมาแสดงในการขอรับรองมาตรฐานได้เช่นกัน
“เราต้องการให้ AHSAN Trustmark เป็นมาตรฐานรับรองทุกธุรกิจให้ความสำคัญกับหลักคิด Localism ทั่วประเทศไทย การรับรองมาตรฐานยืดหยุ่นได้หลายระดับ เพียงแต่ใจความสำคัญคือ ทุกธุรกิจควรมีการเกื้อกูลชุมชน เศรษฐกิจฐานราก เปิดให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมขยับเศรษฐกิจฐานรากด้วย นี่คือคุณค่าที่เราใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภคหรือตลาดเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานนี้”
ผศ.ดร.มัฮซูม กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมาได้นำร่องจำหน่ายสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark ประเภทเสื้อผ้า ฮิญาบมุสลิม จากการทำงานวิจัยร่วมกับกรอบการวิจัย Local Enterprises ของ บพท. ปีแรก (2565) ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจฮิญาบท้องถิ่นกว่า 10 ราย สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้ประกอบการที่เป็นทีมเวิร์ก แลกเปลี่ยน แบ่งปัน มีส่วนร่วมกันทั้งการพัฒนาความรู้ เทคนิค วัตถุดิบการผลิต การเงิน การบริหาร จับคู่ทางธุรกิจ การลดต้นทุน และตลาดผู้บริโภค ทำให้อัตราการเติบโตของยอดจำหน่ายรวมกันอยู่ที่ 48 ล้านบาท จากเดิมที่ต่างคนต่างทำเพื่อหากำไร และแข่งขันกันเองภายในพื้นที่ ดังนั้นในปีที่ 2 (2567) จึงใช้ธุรกิจฮิญาบเป็นสินค้านำร่อง ร่วมกับสินค้าอื่น ๆ โดยยอดจำหน่ายสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark ของผู้ประกอบการ 15 รายนั้นมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 61
“มาตรฐาน AHSAN Trustmark จึงเป็นคานงัดที่ทรงพลัง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนที่เข้ามาร่วมเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมกับ ม.ฟาฏอนี และ บพท. มีความเข้มแข็ง ก้าวต่อได้ด้วยตัวพวกเขาเองอย่างยั่งยืน หรือ “ปล่อยมือได้” เพราะนักวิจัยไม่สามารถอยู่กับผู้ประกอบการได้ตลอดไป แต่เราก็ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ให้เข้มแข็งขึ้นบ้างแล้ว”
ผศ. ดร.มัฮซูม ยังได้กล่าวด้วยว่า สถาบันมาตรฐาน AHSAN Trustmark ตั้งอยู่ใน อ.จะนะ จ.สงขลา และเปิดศูนย์นวัตกรรม AHSAN Trustmark สร้างอาชีพนักศึกษาและชุมชน มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ฝึกฝนทักษะอาชีพต่าง ๆ ให้ผู้สนใจ ในปีนี้นำร่องด้วยธุรกิจฮิญาบ
ผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจยื่นขอการรับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark สินค้าและผลิตภัณฑ์ของท่านต้องผ่านการรับรองคุณภาพการผลิตขั้นพื้นฐานจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาก่อนตามมาตรฐานการผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ อาทิ การรับรองจากมาตรฐานอาหารและยา (อย.), มาตรฐานฮาลาล โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร ผู้สนใจแสดงความประสงค์ได้ที่ เว็บไซต์ AHSAN Trustmark จากนั้นจะมีกระบวนการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ ตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรฐาน 5L-Localism กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่นาน มีค่าธรรมเนียมการรับรองมาตรฐาน 1,500 บาท ต่อประเภทสินค้า อายุการรับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark 1 ปี ล่าสุดสถาบันมาตรฐาน AHSAN Trustmark ให้การรับรองมาตรฐานให้แก่สินค้าได้ถึง 9 ประเภท ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ahsan-trustmark.org