วิกฤติ น้ำท่วมใต้ลามถึงนครฯ ฝนถล่มหนักเกิน 500 มม.เขตเทศบาลไม่รอด จังหวัดสั่ง 22 อำเภอ เตรียมรับมวลน้ำอีกระลอกจากฝนที่ตกหนักบนเขา ขณะที่อ่างเก็บน้ำมีปริมาณ 80%
วันที่ 16 ธ.ค.67 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) แจ้งสถานการณ์ฝนในจ.นครศรีธรรมราช ว่าปริมาณฝนรอบ 24 ชม.ตกหนัก โดยสถานีบ้านหนองบัว ต.ไชยมนตรี อ.เมืองนครศรีธรรมราช ปริมาณถึง 502.5 มม.สถานีอบต.เทพราช ต.เทพราช อ.สิชล 457.2 มม. สถานีบ้านหน้าเหมือง ต.ควนทอง อ.ขนอม 452.5 มม. อบต.ท่าศาลา ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา 407.5 มม.สถานีบ้านตากแดด ต.ท่าซัก อ.เมืองนครศรีธรรมราช 384 มม.
เวลา 18.00 น. นายชวกิจจ์ สุวรรณคีรี รองผวจ.นครศรีธรรมราช ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ รับทราบสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้เตรียมรับมือมวลน้ำจากพื้นที่ต้นน้ำบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราช เนื่องจากมีรายงานฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ใน 22 อำเภอของจ.นครศรีธรรมราช
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำทั้ง 5 อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ซึ่งมีความจุรวม 248.88 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเก็บกักน้ำ 201.30 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80.89 ของความจุทั้งหมด
ดร.กณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ได้เดินเครื่องสูบน้ำและผลักดันน้ำ 56 เครื่อง ทั้งของเทศบาลฯและการสนับสนุนจากกรมชลประทาน
รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงสายวันที่ 16ธ.ค.67 เส้นทางเข้าสู่ตัว อ.เมืองนครศรีธรรมราช ถูกตัดขาด บริเวณ ต.เสาธง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ไปจนถึงบริเวณ อ.พระพรหม ที่จะเข้าสู่ตัวเมือง ทั้งสองฝั่งจราจรน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะฝั่งขาเข้าบางจุดน้ำสูงกว่า 1 เมตร รถเล็กผ่านไม่ได้ น้ำในลำคลองต่างๆ เต็มความจุ เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนของชาวบ้าน รวมถึงถนนเกือบทุกสายที่จะมุ่งสู่ตัว อ.เมืองนครศรีธรรมราช โดยมีรายงานความเสียหายเกิดกับอาคารกุฏิพระ วัดป่าเรียน อ.ท่าศาลา ทรุดพังถล่ม เนืองจากน้ำกัดเซาะใต้อาคาร
วันที่ 16 ธ.ค.67 รายงานจากเพจข่าวต่าง ๆ ใน จ.นครศรีธรรมราช แจ้งว่า จากปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากเกือบทุกอำเภอ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คาดการณ์ว่ามวลน้ำก้อนจะไหลไปสมทบลงสู่อำเภอพระพรหม ท่าศาลา และเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ ในเวลาประมาณ 16.00 น.ของวันที่16 ธ.ค.67
คลองสายหลักทั้ง 8 สายที่ไหลผ่านเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชได้เพิ่มระดับสูงขึ้นและ เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน ตรอกซอยต่างๆ บางจุดมีน้ำท่วมสูงรถผ่านไม่ได้ ชาวบ้านต้องเดินเท้า ใช้เรือเข้าออกบ้าน เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ประกาศแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนตั้งแต่คืนก่อนหน้า ให้ขนย้ายข้าวของและอพยพมาอยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นอาคารของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครทุกแห่งเป็นจุดพักพิงชั่วคราวแก่ประชาชน
โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เป็นจุดที่ทุกฝ่ายเฝ้าระวัง นำกระสอบทรายกั้นประตูด้านหน้าของเพราะเป็นพื้นที่ราบต่ำ เกรงว่าหากมวลน้ำทะลักเข้าท่วมอาจจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน โดยประกาศให้ใช้ทางเข้าออกประตูด้านหลังโรงพยาบาลแทน
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แถลงประจำวันที่ 16 ธ.ค.67 ว่า สถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบัน พบ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร (อ.ปะทิว เมืองฯ สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ละแบ พะโต๊ะ และท่าแขะ)จ.ระนอง (อ.กระบุรี ละอุ่น และเมืองฯ) จ.สุราษฎร์ธานี (อ.ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง เมืองฯ กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก บ้านนาสาร เกาะพงัน และเกาะสมุย) จ.นครศรีธรรมราช (อ.ขนอม สิชล นบพิตำ ท่าศาลา พิปูน พรหมคีรี ฉวาง เมืองฯ ลานสกา ข้างกลาง พระพรหม ปากพนัง นาบอน ร่อนพิบูลย์ เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งสง เชียรใหญ่ จุฬาภรณ์ หัวไทร บางขัน และชะอวด) จ.พัทลุง (อ.ควนขนุน ศรีบรรพต เมือง” ศรีนรินทร์ เขาชัยสน และกงหรา)
รายงานแจ้งว่า คลองทำดี สถานี X.203 อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช มีระดับน้ำ 10.99 ม. สูงกว่าตลิ่ง 0.49 ม. (ระดับตลึง 10.50 ม.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำ มากกว่าร้อยละ 100 ของความจุ 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหาดส้มแป้น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช อ่างเก็บน้ำคลองดินแดง อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช และอ่างเก็บน้ำ คลองสะเดา อ.สะเดาจ.สงขลา สทนช. ได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบกับภาคประชาชน คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน และมีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงฤดูแล้งนี้
สทนช.แจ้งด้วยว่า กองทัพบก ได้สนับสนุนกำลังพลและยุทโรปกรณ์ กำลังพล 3,260 นาย ยานพาหนะ 335 คัน เรือท้องแบน/เรือยาง/เรือกู้ภัย 98 ลำ ในการเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อุทกภัย 4 จังหวัด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช