ข่าวประชาสัมพันธ์

สวพส. จัดการน้ำบนพื้นที่สูง…เปลี่ยนวิถีชุมชน…สู่ความมั่นคงทางอาหารยั่งยืน

  รู้จักสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง ผลงานเด่นบนที่ห่างไกล ทำโครงการพัฒนาและแหล่งน้ำกระจายแหล่งน้ำขนาดเล็ก  รอบ 5 ปี  ช่วยเกษตรกรแล้ว 24,000 ราย เข้าถึงแหล่งน้ำ 930 แห่ง กระจายน้ำถึง 412 กม.

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. แจ้งว่าในปีงบประมาณ 2568 สวพส. ได้ขยายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายแหล่งน้ำขนาดเล็กไปยัง 49 ชุมชน ครอบคลุมอีก 127 แห่ง ระบบกระจายน้ำที่เพิ่มขึ้นเกือบ 20 กิโลเมตร มีผู้ได้รับประโยชน์เพิ่มอีก 460 ราย ครอบคลุมพื้นที่เกษตรรวมกว่า 5,120 ไร่ และการดูแลป่าต้นน้ำอีก 13,000 ไร่  โดยได้เริ่มโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็กตั้งแต่ปี 2563 เพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำในฤดูฝน กระจายน้ำให้เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง สร้างระบบจัดการน้ำที่ยั่งยืนโดยชุมชน รวมถึงการฟื้นฟูดูแลรักษาป่ารอบๆ แหล่งน้ำ

การดำเนินการช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงกว่า 24,000 ราย  458 แห่งทั่วประเทศ ได้ประโยชน์โดยตรง เข้าถึงแหล่งน้ำที่พัฒนาแล้ว 930 แห่ง มีระบบกระจายน้ำ 412 กิโลเมตร ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ให้มีน้ำใช้ตลอดปี ช่วยเพิ่มรายได้กว่า 447 ล้านบาท ในปี 2567 จากผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย อาทิ พืชผัก ไม้ผล หรือกาแฟคุณภาพสูง

แหล่งน้ำที่เพียงพอช่วยให้เกษตรกรปรับตัวสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ลดความเสียหายจากภัยแล้งและรักษาคุณภาพของผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด เกษตรกรหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแต่มูลค่าสูง โดยไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกหรือบุกรุกพื้นที่ป่าแต่อย่างใด ผลที่ตามมา คือ ป่าต้นน้ำได้รับการฟื้นฟูกว่า 526,000 ไร่ หลังจากเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้เศรษฐกิจถึง 58 ชนิด บนพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดการของชุมชนในพื้นที่

 

จากการติดตามจุดความร้อนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง (ม.ค. - พ.ค. 2568) พบว่า จุดความร้อนในพื้นที่เกษตรลดลงถึง 57.21% เทียบกับปีที่ผ่านมา และมากกว่า 68% ของกลุ่มบ้านที่เข้าร่วมโครงการไม่พบจุดความร้อนเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กคือการสร้างโอกาสให้ชุมชนมีน้ำใช้ มีอาหาร มีรายได้ มีชีวิตที่มั่นคง เป้าหมายคือแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่สูงอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในชุมชนที่ยังต้องพึ่งพาน้ำฝน เพื่อการดำรงชีวิตและการเกษตร สามารถพัฒนาระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้อย่างยั่งยืน อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและทุกภาคส่วน

 

#เกษตรกรรมที่ยั่งยืน  #สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง #สวพส., #ป่าต้นน้ำ