ข่าวประชาสัมพันธ์

นวัตกรชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนไทยด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม

เปิดตัวผลงานนวัตกรรมระดับพื้นที่  บพท. ปั้น นวัตกรกว่า 23,000 คน จัดสรรทุนวิจัยลงระดับชุมชน ตำบล ให้แกนนำนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมลงพัฒนาสร้างรายได้เพิ่ม 20%ไปแล้ว กว่า 2,600 ชุมชนใน 69 จังหวัด

 

ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2568  หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดการประชุมและนิทรรศการเพื่อขับเคลื่อนชุมชนพื้นที่ นวัตกรชุมชน: เทคโนโลยีที่เหมาะสมขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนไทย แนวคิดพลังสร้างสรรค์ จากนวัตกรชุมชน สู่อนาคตที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา  ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2563 – 2568) บพท. ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนนวัตกรรมชุมชนด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและนวัตกรรมสังคม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมของชุมชนไปแล้ว 2,647 ชุมชน 1,511 ตำบล 69 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสม พร้อมใช้ และนวัตกรรมกระบวนการ แก้ไขปัญหาที่สำคัญของชุมชนทั้งสิ้น 1,653 นวัตกรรม/เทคโนโลยีฯ  ยกระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก และมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 สร้างนวัตกรชุมชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในบทบาท นวัตกรชุมชนให้กับชุมชนทั่วประเทศ 23,753 คน

เครือข่ายขับเคลื่อนนวัตกรรมชุมชน ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ เครือข่ายมหาวิทยาลัย  รวม 55 หน่วยงาน และโครงการวิจัยสังเคราะห์ 3 หน่วยงาน

ปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) มีนโยบายขับเคลื่อนแผนงาน ครัวเรือนในชนบทและครัวเรือนเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม 32,000 ครัวเรือน เป้าหมาย เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนในชนบท กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการรายในพื้นที่ ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วย บพท. กับ 3 เครือข่าย มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง

ดร.กิตติ กล่าวว่า บพท. จัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยได้รับงบประมาณวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริมววน.) เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยกระดับขีดความสามารถนวัตกรชุมชนจากภาคประชาชนที่เรียนรู้-รับ-ปรับใช้องค์ความรู้ และขยายผลนวัตกรรม/เทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ สามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชุมชนอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่

รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ประธานอนุกรรมการพิจารณาติดตามและประเมินผล แผนงานย่อยรายประเด็น กล่าวว่า บพท. พบว่า งานวันนวัตกรชุมชนเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วย เสริมพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังในการสร้างและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เหมาะสม และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ปัญหา–บริบท–โอกาส ของแต่ละชุมชน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมฐานราก สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนของประเทศ ไม่ใช่เพียงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เป็นเวทีรวมพลังความรู้ พลังความร่วมมือของภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคีเครือข่ายทุกระดับ

 

 #เทคโนโลยีที่เหมาะสมขับเคลื่อน  #นวัตกรรมสังคม  #ผลิตภัณฑ์ชุมชน