ข่าวประชาสัมพันธ์

ไทย-เยอรมนีเปิดฐานข้อมูลจีโนไทป์-ฟีโนไทป์ มันสำปะหลังให้ใช้ฟรี

ไทย – เยอรมนี แถลงผลสำเร็จพัฒนาฐานข้อมูลจีโนไทป์ และฟีโนไทป์ มันสำปะหลังได้ 600 สายพันธุ์ให้นักวิจัยทั่วโลกเอาไปต่อยอดแก้ปัญหาเพิ่มขนาด และอีกสารพัดทั้งทนแล้ง ทนร้อน ป้องกันโรค

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถาบัน Institute of Bio- and Geosciences (IBG-2), Forschungszentrum Jülich สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Germany) และพันธมิตร แถลงข่าวที่โรงแรมพูลแมนคิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.68  เปิดตัวฐานข้อมูลจีโนไทป์(ยีนที่สิ่งมีชีวิตได้จากพ่อแม่ ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะต่างๆ (ฟีโนไทป์) และฟีโนไทป์ (ลักษณะภายนอกของสิ่งมีชีวิต เกิดจากการแสดงออกของยีน (gene) และอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม)ของมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยความร่วมมือวิจัยระหว่างประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างความมั่นคงทาง อาหารในระยะยาว

โครงการ CASSAVASTORE หรือโครงการการศึกษาข้อมูลฟีโนไทป์ จีโนไทป์ และสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพัฒนาของ รากสะสมอาหารของมันสำปะหลัง เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ และเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณราว 62 ล้านบาท ดำเนินการโดย สวทช. และ สถาบัน Forschungszentrum Jülich สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยงบประมาณสนับสนุนการวิจัยสถาบัน Julich การดำเนินงานวิจัยของทีมนักวิจัยเยอรมันได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 803,356 ยูโร หรือ 32 ล้านบาท งบประมาณสนับสนุนการวิจัยของทีมนักวิจัยไทยได้การสนับสนุนจาก สวทช. 30 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ระหว่างปี 2560-2562 หน่วยงานหลักที่ดำเนินโครงการจากทั้งสองประเทศ ได้แก่ Forschungszentrum Jülich ศูนย์พันธุวิศวกรรมและ เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์

ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง รองผอ.ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่าผลสำเร็จของโครงการคือประเทศไทยได้ข้อมูลที่สำคัญของลักษณะทางฟีโนไทป์ จีโนไทป์ และสรีรวิทยา การเจริญพัฒนาของรากสะสมอาหารของ มันสำปะหลังทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์จากต่างประเทศกว่า 600 พันธุ์/สายพันธุ์ เก็บรวมรวมไว้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง กรม วิชาการเกษตร ข้อมูลเหล่านี้สำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอนาคต

ดร. ศิษเฎศ ทองสิมา ผอ.ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) ไบโอเทคกล่าวว่าข้อมูลซึ่งจัดเก็บไว้ที่ NBTพร้อมเปิดให้นักวิจัยและผู้พัฒนาพันธุ์พืชทั่วโลกนำไปใช้เร็วๆนี้ โดยไม่คิดมูลค่า ยกเว้นเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลพันธุกรรมมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  โดยยกตัวอย่างการใช้ประโยชนจากข้อมูล คือการแก้ปัญหาให้ได้มันสำปะหลังที่การทนร้อน  ทนแล้ง ป้องกันโรค ทำให้เห็นโอกาสปรับปรุงพันธุ์ ด้วยข้อมูลจีโนม เพียงแต่ศึกษาและหาพันธุ์อื่นที่เหมาะสมมาผสมให้ได้ตามต้องการ

วันเดียวกัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  จัดงาน Global Cassava Sustainability Forum 2025  ซึ่งเป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรม ผู้กำหนดนโยบายจากหลากหลายประเทศทั่วโลก แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เสริมสร้างเครือข่าย ผลักดันความยั่งยืนในอุตสาหกรรมเกษตร โดยใช้มันสำปะหลังเป็นต้นแบบห่วงโซ่มูลค่า

ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับหนึ่งของโลก ปี 2567 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรวมกับกัมพูชาและเวียดนามครองตลาดโลกรวมกันถึง 90% มันสำปะหลังมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น พลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และเภสัชภัณฑ์

ผศ. ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผอ. ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงการวิจัยและพัฒนามันสำปะหลังว่า ส่วนต้นน้ำได้พัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังให้ผลผลิตสูง ไซยาไนด์ต่ำ เช่น พันธุ์พิรุณ 1, 2 และ 4 ชุดตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง การประยุกต์ใช้เพื่อเฝ้าระวังและจัดการควบคุมโรค ส่วนกลางน้ำ วิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมันสำปะหลัง การจัดการของเสีย เช่น เทคโนโลยีในการเพิ่มความเข้มข้นและทำความสะอาดแป้งโดยเทคโนโลยีไฮโดรไซโคลนประสิทธิภาพสูง และเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพประสิทธิภาพสูงจากกากมันสำปะหลัง ส่วนปลายน้ำ พัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตทรีฮาโลสจากมอลโตสโดยใช้เอนไซม์ Trehalose synthase แบบขั้นตอนเดียว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ให้ผลผลิตสูง โดยใช้วัตถุดิบคือแป้งมันสำปะหลังเปลี่ยนเป็นน้ำเชื่อมมอลโตส

งาน Global Cassava Sustainability Forum 2025 ตลอดการประชุม 3 วัน ผู้เข้าร่วมจะได้พบกับการนำเสนอกลยุทธ์เพื่อการสร้างห่วงโซ่คุณค่ามันสำปะหลังโลกที่เข้มแข็งและยั่งยืน ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีการเพาะปลูกสมัยใหม่ ระบบบริหารจัดการโรคพืช การผลิตแป้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนวัตกรรมการประยุกต์ใช้แป้งมันสำปะหลังในการทำอาหาร และการแสดงผลิตภัณฑ์ล่าสุดจากบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม พร้อมทั้งกิจกรรมศึกษาดูงาน ณ โรงงานผลิตผงชูรส โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง และศูนย์ไบโอเทค