“สุดาวรรณ” แถลงความพร้อมใช้วิจัยและนวัตกรรม รับภัยพิบัติ ชูโครงการ “น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง ใน 10 จังหวัด” เตรียมระบบเตือนภัย แผนป้องกันรับมือน้ำท่วมในอนาคต
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าวการรับมือภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติพายุวิภาในมุมวิจัยและนวัตกรรม ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 26 ก.ค. โดยระบุว่ากระทรวง อว. ร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่เสี่ยงภัย สนับสนุนข้อมูลและงานวิจัยที่เป็นประโยชน์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ ได้แก่ 1.ระบบสนับสนุนการเตือนภัยน้ำท่วม ผ่านเครื่องมือ Flood Map, Flood Pole และ Flood Mark ประกอบด้วยชุดข้อมูลเตือนภัย และเฝ้าระวัง และกำหนดมาตรารองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่คาดการณ์ได้อย่างเหมาะสม 2.จัดทำฐานข้อมูลสถานการณ์น้ำรายชั่วโมง แจ้งผ่านระบบการเตือนภัยและแนวทางการป้องกันน้ำท่วม ในจังหวัดเชียงราย 3.จัดทำสรุปสถานการณ์พายุวิภาและจำลองสภาพน้ำท่วมจากการคาดการณ์สภาพอากาศ 4.จำลองแนวโน้มดินถล่มด้วยการจัดการภัยที่ให้ชุมชนเป็นฐาน
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า กระทรวง อว. นำผลงานวิจัยและนวัตกรรม ระบบติดตาม เตือนภัยระดับพื้นที่ สนับสนุนการทำงานของจังหวัด พัฒนาการพยากรณ์ล่วงหน้าให้มีความแม่นยำ ระบุความเสี่ยงในพื้นที่แจ้งเตือน ดูแลประชาชน บูรณาการความร่วมมือลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติ โดย วช. ได้นำแผนงานวิจัยการบริหารจัดการน้ำ “น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง ใน 10 จังหวัด” สนับสนุนระบบเตือนภัย เตรียมแผนป้องกันรับมือภาวะน้ำท่วมในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนจากสถานการณ์น้ำ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. กล่าวว่า แม้พายุจะเริ่มอ่อนกำลังลง แต่หลายพื้นที่ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง วช. ได้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ องค์ความรู้ เทคโนโลยีเพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือพายุวิภาทุกมิติ การประเมินความเสี่ยงระดับพื้นที่ ถ่ายทอดใช้ประโยชน์เชิงปฏิบัติ โดยความร่วมมือจากเครือข่ายวิจัยทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
นอกจากนี้อว. ได้ส่งมอบนวัตกรรมช่วยบรรเทาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ โดรน มอบให้ ศูนย์การจัดการภัยพิบัติเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ตำบลเจดีย์ชัย อำเภอปัว จังหวัดน่าน เพื่อช่วยส่งอาหารและเวชภัณฑ์ให้ผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วมากขึ้น ใช้บินสำรวจเส้นทาง ไหลของน้ำ และสำรวจหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในพื้นที่ SANSO KUN (ซังโซะคุง) นวัตกรรมออกซิเจนความเข้มข้นสูงอัดกระป๋อง มอบให้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อพกพาใช้ช่วยเหลือ เคลื่อนย้ายผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางที่เดินทางไปโรงพยาบาลลำบาก Agent29: คอปเปอร์นาโนรูปเข็ม มอบให้ นายอำเภอเวียงสา และ นายอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ป้องกันเชื้อราในอาคาร พรม ไม้ ผนังปูน หลังน้ำลด ผลิตภัณฑ์เคลียร์ซอยด์ มอบให้เครือข่ายหมอดินอาสา ตำบลเวียงสา อำเภอเวียงสา จังหวัดหวัดน่าน และเครือข่ายหมอดินอาสา บ้านน้ำครกใหม่ ตำบลกองควาย อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดปริมาณโลหะหนักในดินหลังน้ำท่วม ได้แก่ สารหนู (As) แคดเมียม (Cd) และตะกั่ว (Pb) โลหะหนักที่มักพัดพามากับตะกอนดิน สะสมในแปลงปลูกพืช เคลียร์ซอยด์จะช่วยลดสารพิษตกค้าง ได้ภายใน 1 เดือน ถุงยังชีพและที่นอนยางพารา มอบให้แก่ อว. ส่วนหน้าเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ
ภายในงาน มีการเสวนาการรับมือภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติพายุวิภา ในมุมวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งดำเนินรายการเสวนา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงาน (Program Director) แผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. วช.
#น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง #ท่วมน่าน #