นาโนเทค จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านนาโนเทคโนโลยี พลิกโฉมโลกอนาคต ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยโอซาก้า โชว์นวัตกรรมการพิมพ์ 3 มิติชีวภาพ (3D-bioprinting) สร้างเส้นใยกล้ามเนื้อ เส้นใยไขมัน เส้นใยหลอดเลือด เป็นเนื้อวากิวเพาะเลี้ยง ทีมวิจัยไทย ก็มีไข่โอเมก้า 3 นาโน
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย แถลงข่าวการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านนาโนเทคโนโลยี ประจำปี 2568 (NanoThailand2025) ภายใต้แนวคิด Revolutionizing the Future นาโนเทคโนโลยีพลิกโฉมโลกอนาคต ระหว่างวันที่ 3–5 พฤศจิกายน 2568 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.nano-thailand.com
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผอ.ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติด้านนาโนเทคโนโลยี ประจำปี 2568 (NanoThailand2025) ผู้เข้าร่วมจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากนักวิจัยในระดับแนวหน้าของไทยและทั่วโลก ได้แก่ ศ. มิชิยะ มัตสึซากิ (Prof. Michiya Matsusaki) จาก Graduate School of Engineering, Osaka University นักวิจัยที่มีชื่อเสียงด้านวัสดุชีวภาพและวิศวกรรมชีวการแพทย์ นำเสนอความก้าวหน้าของนวัตกรรมที่กำลังเป็นที่สนใจของทั้งโลก คือ การพัฒนาเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติสำหรับชีวภาพ (3D-bioprinting) ด้วยความเชี่ยวชาญการสร้างเส้นใยกล้ามเนื้อ เส้นใยไขมัน เส้นใยหลอดเลือด ประกอบกันเป็นเนื้อวากิวเพาะเลี้ยง โดยใช้เครื่องพิมพ์ชีวภาพ 3 มิติ บนเวที NanoThailand
ดร.อุรชา กล่าวอีกว่าในงานประกอบไปด้วย 12 หัวข้อการประชุมย่อยมีวิทยากรรับเชิญ 70 รายจาก 20 ประเทศ ครอบคลุมหัวข้อวัสดุศาสตร์และงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) การนำเสนอผลงานวิจัย 200 หัวข้อแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ การนำเสนอผลงานจากสตาร์ตอัปด้านนาโนเทคโนโลยี กิจกรรม Tech-to-Market: Bridging Innovation and Commercialization ที่มุ่งเน้นการจับคู่ธุรกิจ
“จะมีการมอบรางวัลนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (Thailand Nanotechnology Awards) ขึ้นเป็นครั้งแรก ได้แก่ Young Nanotechnologist Award ให้กับนักเทคโนโลยีนาโนอายุไม่เกิน 40 ปี ที่มีผลงานการวิจัยพัฒนาโดดเด่น, Nanotechnology Start-up Award ให้กับบริษัทสตาร์ทอัปด้านนาโนเทคโนโลยี และ Nanotechnology Hall of Fame ให้กับบุคคล/หน่วยงานที่มีผลงานนาโนเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม”
ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และประธานกรรมการบริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Nanotechnology: Revolutionizing the Future Thailand” ว่า นาโนเทคโนโลยีไม่ใช่เพียงแค่ความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม องค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีความยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับโลก
ในการแถลงข่าว มีการนำเสนอผลงานวิจัยเด่นด้านนาโนเทคโนโลยีจาก สวทช. และพันธมิตร อาทิ บูธแสดงผลงานวิจัยเด่นจาก สวทช. และพันธมิตร ได้แก่
• ไข่โอเมก้าสูง (SFเกษตรและอาหาร) ใช้นาโนเทคโนโลยีนำส่งสารสำคัญสู่ระบบทางเดินอาหารของแม่ไก่และส่งเสริมให้มีการสะสมกรดไขมันโอเมก้า-3 ในไข่ไก่ ด้วยตัวพาไขมันที่มีโครงสร้างระดับนาโน (Nanostructured Lipid Carriers หรือ NLC) โดยไข่ไก่ 1 ฟอง จะมีปริมาณโอเมก้า-3 สูงกว่าไข่ไก่ทั่วไปถึง 3 เท่า
• สารสกัดกระชายดำมูลค่าสูง (SFสารสกัดสมุนไพร)
• ชุดตรวจสำหรับคนไทย (SFชุดตรวจสุขภาวะ) เป็นนวัตกรรมที่วิจัย พัฒนา ผลิตเพื่อใช้เองในประเทศ อาทิ ชุดตรวจคัดกรอง-ตรวจติดตามเบาหวานโดยไม่ต้องอดอาหาร (SugarAL) ชุดตรวจคัดกรองโรคไตเชิงปริมาณ (GO-Sensor Albumin Test) ชุดตรวจคัดกรองโรคไตเชิงคุณภาพ (AL-Strip) เป็นต้น
• ระบบ/ต้นแบบการจัดการคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค (SFน้ำและสิ่งแวดล้อม) นำน้ำเสียและของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารที่มีมูลค่าสูง การตรวจวัดและลดการปนเปื้อนของสารอันตรายให้อยู่ในมาตรฐาน
ผลงานจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายนาโน อย่างไพลวาเซนโกลด์ และพาร์นิก้าครีม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผลิตภัณฑ์นาโนด้านเกษตรยั่งยืน จากบริษัท ซัสเทน อินโนเทค จำกัด
นอกจากนี้ มีการเปิดตัวนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีจากพันธมิตรเอกชน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร BGold นวัตกรรมกระชายดำลดพุง ลดโรค โดย บริษัท สเปเชียลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) และ นวัตกรรมการเคลือบวัสดุและผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้าน โดย กลุ่มบริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นโมเดลความสำเร็จจากการต่อยอดผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของพันธมิตรภาคเอกชนที่จับมือกันขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสู่มือผู้บริโภค.
#ไข่โอเมก้าสูง #นาโนเทค # NanoThailand2025 # Revolutionizing the Future #3D-bioprinting #เนื้อวากิวเพาะเลี้ยง