สวทช.แจงผลงานรอบปี นำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้ประชาชน หน่วยงานใช้ประโยชน์เกือบ 9 ล้านคน เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้านบาท เกิดการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 67 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ: ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงผลงาน สวทช. ปี 2567 และทิศทางดำเนินงานปี 2568 ภายใต้กลยุทธ์ S&T Implementation for Sustainable Thailand หรือการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยยั่งยืน โดยปี 2568 สวทช. จะขยายผลงานวิจัยไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ตามนโยบายที่ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม( อว.) ตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี สวทช. (พ.ศ. 2566-2570) ตั้งเป้าหมายผู้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่า 7 ล้านคน หน่วยงานรับถ่ายทอดผลงานวิจัยมากกว่า 20,000 หน่วยงาน โดย4 กลยุทธ์ ได้แก่
1. ขับเคลื่อนแผนงาน S&T Implementation for Sustainable Thailand ร่วมกับพันธมิตรสู่การใช้ประโยชน์ 2. สร้างความเข้มแข็ง ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีฐานที่สำคัญของประเทศ 3. สร้างการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานของ สวทช. และพัฒนาบุคลากรด้าน วทน. 4. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากร
ผลงานในปี 2567 ประชาชน ผู้ให้บริการภาครัฐเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าถึง ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร กว่า 8.9 ล้านคน นำเทคโนโลยีไปใช้มากกว่า 43,000 หน่วยงาน เกิดผลทางเศรษฐกิจและสังคม มากกว่า 20,000 ล้านบาท มีการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มากกว่า 3,600 ล้านบาท ตอบโจทย์ประเทศทั้ง 4 มิติ ได้แก่
มิติที่ 1 สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ จาก 1.)การผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน บริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมตลอดห่วงโซ่การผลิต ผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ มากกว่า 25 รายการ มีการลงทุนด้าน วทน.กว่า 200 ล้านบาท ส่งผลต่อเศรษฐกิจ 2,300 ล้านบาท เป็นมูลค่าทางธุรกิจ 7,500 ล้านบาท 2.) นวัตกรรมผลิตสารสกัดเพิ่มมูลค่า ยกระดับสมุนไพรไทยสู่ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ วิจัยสารสกัดมาตรฐานจากกระชายดำและบัวบก ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ผลักดันสารสกัดสมุนไพรไทยสู่ บริษัทชั้นนำระดับโลก 10 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี และนิวซีแลนด์ เกิดการลงทุนด้าน วทน. 152 ล้านบาท สร้างมูลค่าทางธุรกิจ 320 ล้านบาท 3.) พัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้า (EV) เพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน พัฒนากำลังคน Upskill/Reskill ด้าน EV สร้างเทคโนโลยีสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย อว. For EV มีผู้ใช้ประโยชน์ 36 หน่วยงาน เกิดผลทางเศรษฐกิจ 860 ล้านบาท มีการลงทุนด้าน วทน. 640 ล้านบาท
มิติที่ 2 เพิ่มการพึ่งพาตนเอง 1.)ชุดตรวจติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ อย.แล้ว กำลังเข้าสู่ระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองโรคด้วยตัวเองอย่างง่าย รู้ผลภายใน 5 นาที ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตเรื้อรังทั้งประเทศมากกว่า 9 ล้านคน 2.)Digital Healthcare Platform ขยายผลแพลตฟอร์มบริการการแพทย์ปฐมภูมิ สนับสนุนหน่วยบริการนวัตกรรมตามนโยบาย สปสช. บริการการแพทย์ฉุกเฉิน คนไทยได้ใช้ประโยชน์กว่า 3 ล้านคน มากกว่า 8 ล้านครั้ง สนับสนุนหน่วยบริการทางการแพทย์ 6,200 แห่ง 3.) วัคซีนสัตว์ พัฒนาวัคซีน ASF สายพันธุ์ไทย สู้กับโรคระบาดสุกร ลดการนำเข้าวัคซีน วางแผนทดสอบในฟาร์มสุกร 12 แห่ง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐและเอกชน 80 ล้านบาท 4.) National AI Ecosystem ส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนแพลตฟอร์ม AI for Thai สถิติการใช้งานสูงสุดมากกว่า 1 ล้านครั้งต่อเดือน สนับสนุน Medical AI Data Sharing มากกว่า 2 ล้านภาพครอบคลุม 9 โรคสำคัญ โครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ผ่านการให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ สำหรับการวิจัยด้าน AI และสนับสนุนพัฒนา Thai LLM เป็น OpenThaiGPT ที่พัฒนาโดยคนไทย
มิติที่ 3 ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 1.)Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง ช่วยรับการร้องเรียน เชื่อมโยงประชาชนเข้ากับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบทุกปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อยกระดับสังคมเมืองให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีจังหวัดที่ใช้งานทุกหน่วยราชการของจังหวัด 23 จังหวัด รับเรื่องแจ้งทั่วประเทศมากกว่า 1 ล้านเรื่อง ครอบคลุมประชากรกว่า 30 ล้านคน หรือ 45% ของทั้งประเทศ ใช้งานแล้วมากกว่า 15,000 หน่วยงาน 2.) ทุ่งกุลาม่วนซื่น ส่งเสริมเกษตรกร/ผู้มีรายได้น้อย ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สินค้าเกษตรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มากกว่า 5,000 คน 40 หน่วยงาน ยกระดับสินค้าเกษตรและอาหารมูลค่าสูง เพิ่มรายได้ เกิด 10 ผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ชุมชนมากกว่า 82 ล้านบาท สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมถั่วเขียวครบวงจร ช่วยพลิกผืนดินทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งกุลาม่วนซื่น อยู่ดี มีแฮง 3.)แพลตฟอร์มสนับสนุนเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อบริการสื่ออ่านง่ายสำหรับบุคคลที่บกพร่องทางการรับรู้ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสร้างงานและสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม ใช้ประโยชน์มากกว่า 130 หน่วยงาน ผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 142,000 คน
มิติที่ 4 สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1.)พัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูล CO2 , CE, SDGs เพื่อการค้าและความยั่งยืน โดย เอ็มเทค สวทช. สร้างฐานข้อมูลพัฒนาตัวชี้วัดสำคัญเพื่อสนับสนุนแนวทาง SDGs ปรับปรุงฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตระดับประเทศ สนับสนุนภาครัฐและภาคเอกชน นำพาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดการกีดกันทางการค้า ผลักดันให้มีผู้ใช้ประโยชน์มุ่งสู่ NET ZERO 180 หน่วยงาน สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากกว่า 7 แสนตัน เกิดผลทางเศรษฐกิจ5,500 ล้านบาท สนับสนุนอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เหล็ก และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในอนาคต สู่ตลาดโลก ตามมาตรการ CBAM สำหรับอุตสาหกรรม 2.) Industry 4.0 Platform แพลตฟอร์มรวบรวมบริการและกิจกรรมช่วยผู้ประกอบการไทย สนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมประเมินอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยตัวเอง (Self-assessment) ด้วยระบบ Thailand i4.0 CheckUp มากกว่า 405 ราย มีเป้าหมาย 5,000 รายภายในปี 2571 มีศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ช่วย Upskill/Reskill ผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ความยั่งยืน โครงการ IDA (Industrial IoT and Data Analytics) ยกระดับโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร มีตัวอย่างความสำเร็จของ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด (โรงงานน้ำมันกุ๊ก) เกิดการลงทุนด้าน วทน. ในโรงงาน 1 ล้านบาท สร้างผลประโยชน์ 102 เท่าของเงินลงทุน ลดความสูญเสียกำลังการผลิต 126 ล้านบาท
ด้านความเข้มแข็งทางวิชาการ สวทช. มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 724 เรื่อง ยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 247 รายการ ได้รับรางวัลระดับนานาชาติและระดับชาติมากถึง 78 รางวัล