ข่าวประชาสัมพันธ์

DDC-Care Platform ระบบดูแลป้องกันโรคเพื่อผู้แสวงบุญ

สวทช. - กรมควบคุมโรค ผนึกกำลังนำ DDC-Care Platform เทคโนโลยีรับมือโรคระบาดจากโควิด 19  มาใช้ป้องกัน MERS-CoV บริการกลุ่มผู้แสวงบุญชาวไทยที่ไปร่วมพิธีฮัจญ์ ซาอุดิอาระเบีย

นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าว ที่อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว. เมื่อวันที่ 30 เม.ย.68 ถึง ความสำเร็จ DDC-Care เฝ้าระวังโรคเมอร์ส (MERS-CoV) กับผู้แสวงบุญที่เดินทางเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พัฒนา DDC-Care Platform เทคโนโลยีรับมือโรคระบาดข้ามพรมแดน เพื่อเฝ้าระวังโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส MERS-CoV อย่างเข้มงวด เป็นการทำงานเชิงรุก เฝ้าระวังโรคตามมาตรการสาธารณสุขกับผู้แสวงบุญชาวไทยที่เดินทางกลับจากการเข้าร่วมพิธีฮัจญ์     

นายศุภชัย กล่าวว่า ระบบนี้ พัฒนาโดยนักวิจัยไทย ช่วยสร้างความเข้มแข็งในวงการสาธารณสุขไทยอย่างแท้จริง ขอย้ำว่า ไม่ได้ต้องการให้เกิดความกังวลในหมู่พี่น้องชาวไทยมุสลิมว่าการไปแสวงบุญ จะมีการแพร่ระบาดหรือติดเชื้อโรคดังกล่าว เป็นมาตรการป้องกันของรัฐบาล ต่อยอดจากแนวคิด "Hajj 5G 5Good" ได้แก่ Good Price (ราคาดี มีคุณภาพ), Good Service (บริการดี), Good Care (เอาใจใส่ดี), Good Health (สุขภาพดี) และ Good Relations (ความสัมพันธ์ดีระหว่างประเทศ)

โดยเฉพาะในข้อที่ 4 คือ Good Health หรือ สุขภาพดี นอกจากทีมแพทย์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงสาธารณสุข ที่ไปดูแลสุขภาพผู้แสวงบุญ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ยังติดตามดูแลสุขภาพของท่านหลังจากกลับมายังประเทศไทย ขอความร่วมมือให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ขอบคุณทุกหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยกันยกระดับการรับมือกับการระบาดของโรค สร้างความปลอดภัยให้กับชาวมุสลิมและประชาชนชาวไทย

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า DDC-Care  พัฒนาโดย สวทช. ร่วมกับ กรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สนับสนุนระบบ Cloud เป็นระบบติดตามผู้มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด19เพื่อรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที จุดเด่นคือประยุกต์ใช้ป้องกันและเฝ้าระวังโรคอุบัติซ้ำ หรือ โรคติดต่ออันตราย กรมควบคุมโรค น ไปใช้เฝ้าระวังความเสี่ยงโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส ในกลุ่มคนไทยเชื้อสายมุสลิมที่ไปประกอบพิธีทางศาสนาในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน  

สวทช. ยังได้พัฒนาต่อยอดระบบวัคซีนพาสปอร์ต INTERVAC มาสู่ INTERVAC HAJJ สำหรับออกใบรับรองการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 4 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เหลือง กับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2565 ระบบ INTERVAC อำนวยความสะดวกกับเจ้าหน้าที่ในการบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนและประชาชนที่เข้ารับบริการ จากรูปแบบสมุดเล่มเหลือง เขียนด้วยลายมือ รองรับปริมาณและความต้องการของประชาชนได้ไม่มาก เทียบกับINTERVAC มาใช้ เมื่อเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลแล้วก็พิมพ์สมุดเล่มเหลืองได้ทันที พร้อม QR Code ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์

นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าได้ใช้ DDC-Care เฝ้าระวังความเสี่ยงโรคเมอร์ส ใน 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.ตรัง สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส บริการกลุ่มผู้แสวงบุญที่เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าระวังและรับมือกับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ หรือโรคติดต่อร้ายแรง ช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

การแถลงข่าวมีทีมวิจัย สวทช. ประกอบด้วย ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ และ ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ ทีมนักวิจัย สวทช. แนะนำ DDC-Care Platform และ INTERVAC ระบบวัคซีนพาสปอร์ต สาธิตการใช้งาน DDC-Care Platform ในการเฝ้าระวังและควบคุมโรค โดยผู้แทนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ดร.อนันต์ลดา กล่าวว่าใช้งานง่าย ผู้ใช้เพียงกรอกข้อมูลตอบอาการที่มีหรือไม่มีในแต่ละวัน ระบบจะประเมินความเสี่ยงโรคซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ ไม่เสี่ยงสีเขียว เสียงต่ำสีเหลือง ปานกลางสีส้ม เสี่ยงมากเป็นสีแดง รายที่มีความเสี่ยงมาก จะแนะนำให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ มีปุ่มให้โทรออกติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมโรค 1422 โดยอัตโนมัติ การใช้งานเทคโนโลยีอาจมีปัญหากับผู้สูงอายุบ้าง ก็ให้ลูกหลานช่วยสอนได้  ในพื้นที่สาธารณสุขเขต 12 เจ้าหน้าที่เวียนไปให้คำแนะนำ

นายประสิทธิ์มะหะหมัด เลขานุการราชมนตรี กล่าวว่า การประกอบพิธีฮัจญ์ปีนี้ นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรีนำคณะเดินทางไปด้วย ในการประชาสัมพันธ์การใช้ DDC-Care Platform เพื่อการเฝ้าระวังโรค มีความละเอียดอ่อน การกระจายข่าวให้ทราบในวงกว้าง ต้องขอความร่วมมือทุกฝ่าย คือผู้ประกอบการนำการเดินทาง รวมทั้งจุฬาราชมนตรี ดังนั้น จะนำข้อมูลการแถลงข่าวไปรายงานจุฬาราชมนตรีในฐานะหัวหน้า เพื่อแจ้งผู้แสวงบุญถึงความห่วงใยของรัฐบาลว่าภายหลังกลับจากประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อย 14 วันจะได้รับการดูแลจากโปรแกรมตัวนี้