แจงค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของไทย ปี 67 ขยายตัวลดลง 16.5% อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ภาคการผลิต ค้าส่ง ค้าปลีก ลดวูบกว่า 30%แต่ภาครัฐเพิ่มค่าใช้จ่าย1.6 % แต่เทียบสัดส่วนเอกชน 67:33 วช. ยังเสียงแข็งใช้นวัตกรรมสร้างการเติบโตประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานแถลงข่าวการสำรวจข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2567 ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคาร วช. 8 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 68 โดยระบุว่า ปี 2567ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนารวม 168,106 ล้านบาท อัตราเติบโตลดลงร้อยละ 16.5 ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน 112,126 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23.4 ภาคอื่น ๆ (ภาครัฐบาล อุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร) มีค่าใช้จ่าย 55,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 คิดเป็นสัดส่วนภาคเอกชนต่อภาคอื่นๆ ร้อยละ 67 : 33
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา 54,487 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 30) ภาคอุตสาหกรรมค้าส่ง/ค้าปลีก 20,665 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 37) ภาคอุตสาหกรรมบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มูลค่า 36,973 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ) การที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาสูงกว่าอุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมค้าส่งค้าปลีก ทำให้การใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาภาคเอกชนโดยรวมลดลง
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา สัดส่วนสูงสุด ร้อยละ 94 (105,617.95 ล้านบาท) อุตสาหกรรมขนาดกลาง ร้อยละ 5 (5,624.88 ล้านบาท) อุตสาหกรรมขนาดย่อม ร้อยละ 1 (882.72 ล้านบาท) โดยการใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาในภาพรวมอุตสาหกรรมลดลงเช่นกัน การสำรวจยังพบว่า สาเหตุที่ภาคเอกชนลดค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา มีดังนี้
(1) จำเป็นต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดต้นทุน
(2) ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
(3) ปีที่ผ่านมาบางบริษัทลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาด้านครุภัณฑ์ และห้องปฏิบัติการทดลอง ทำให้มีการลงทุนลดลง
การวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า แนวโน้มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาขาอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และสมุนไพรไทยเพื่อป้องกันโรค อาทิ โควิด-19 รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านการแพทย์
สำหรับบุคลากรวิจัยและพัฒนา (R&D) แม้จะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่มีแนวโน้มผันผวนตามธรรมชาติ เช่น การเกษียณและนักวิจัยใหม่เข้ามาทดแทน ในปีสำรวจล่าสุด มีบุคลากร R&D รายหัว 220,629 คน ลดลง (9%) บุคลากร R&D (แบบ FTE) 150,081 คน-ปี ลดลง 9% จำแนกเป็นนักวิจัย 114,169 คน-ปี (76%) ผู้ช่วยนักวิจัย 22,971 คน-ปี (15%) และผู้สนับสนุนงานวิจัย 12,941 คน-ปี (9%) คิดเป็นสัดส่วน 23 คน-ปีต่อประชากร 10,000 คน ในจำนวนนี้อยู่ในภาคเอกชน 68% และภาคอื่น ๆ 32%
สำหรับการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในปัจจุบันจะลดลง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่สถานการณ์ปัจจุบัน แนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้น หากเศรษฐกิจของประเทศ กลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ประกอบกับนโยบายของ กระทรวง อว. ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน