ข่าวประชาสัมพันธ์

เปิด Medical AI Data แพลตฟอร์มกลางช่วยหมอคัดกรอง-วินิจฉัยโรค

เนคเทค สวทช. เปิด Medical AI Data เป็นแพลตฟอร์มกลาง ให้พันธมิตรเครือข่ายโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ แบ่งปันข้อมูล ให้แพทย์ใช้ช่วยคัดกรองและวินิจฉัยโรคได้ไวขึ้น

 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ประกาศความร่วมมือกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคีเครือข่าย Medical AI Consortium  เปิดตัว “แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform)” อย่างเป็นทางการ  โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ ลุมพินี เมื่อวันที่ 21 เม.ย.68

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าว การแพทย์ AI จะเพิ่มความแม่นยำ รวดเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพ การสนับสนุนการจัดตั้ง Medical AI Consortium ผ่านทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อพัฒนา Medical AI Data Platform เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของประเทศ แพลตฟอร์มนี้ประกอบด้วยเครื่องมือที่ สวทช. ทำขึ้นเพื่อช่วยให้นักวิจัยและแพทย์พัฒนานวัตกรรม AI ง่ายขึ้น จึงขอเชิญชวนโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ร่วมแบ่งปันข้อมูลและระบุโจทย์ที่สำคัญ รวมถึงนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมพัฒนาโมเดล AI ที่ใช้ได้จริง เพื่อยกระดับสาธารณสุขไทยให้ก้าวทันโลก ใช้ประโยชน์จาก AI อย่างเต็มศักยภาพ

ศ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ. สวทช. กล่าวว่า Medical AI Consortium และ แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ ที่พัฒนาขึ้น คือตัวอย่างการบูรณาการความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและ AI ของ สวทช. กับความรู้ทางการแพทย์จากพันธมิตร เพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ตัวอย่างของเทคโนโลยีอย่าง RadiiView และ NomadML โดยนักวิจัยเนคเทค สวทช. จะช่วยปลดล็อกให้นักวิจัยและแพทย์ไทยสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ได้เอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สู่ AI ทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์บริบทของประเทศไทยอย่างแท้จริง

แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform) พัฒนาโดยเนคเทค สวทช. ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่สนับสนุนกระบวนการพัฒนา AI ทางการแพทย์ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ครบวงจร และปลอดภัยตามมาตรฐานคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ภายใต้การดูแลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุม 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1.ส่วนบริหารจัดการข้อมูล (Data Management) รองรับการรวบรวม จัดเก็บ จัดทำรายการข้อมูลภาพทางการแพทย์อย่างปลอดภัยและเป็นระบบ มีการกำกับดูแลสิทธิ์การเข้าถึงตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูล นักวิจัยเนคเทค สวทช. ยังพัฒนา RadiiView ซอฟต์แวร์และคลาวด์แอปพลิเคชันสำหรับกำกับข้อมูลภาพทางการแพทย์ (Annotation) ช่วยให้แพทย์ระบุลักษณะสำคัญบนภาพได้อย่างแม่นยำ เพื่อสร้างชุดข้อมูล

2.ส่วนพัฒนาและฝึกสอน AI (AI Modeling) บนแพลตฟอร์ม NomadML ช่วยให้นักวิจัยสามารถพัฒนาโมเดลได้โดย ไม่ต้องเขียนโค้ดโปรแกรมที่ซับซ้อน

3.ส่วนบริการ AI (AI Service Deployment) นำโมเดล AI ที่พัฒนาและตรวจสอบประสิทธิภาพแล้ว ไปใช้งานจริงในระบบบริการสุขภาพ ผ่าน National AI Service Platform เพื่อเกิดประโยชน์ในวงกว้าง

ปัจจุบัน Medical AI Consortium มีสมาชิก 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช สวทช. ได้เชิญชวนหน่วยงานทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา นักวิจัย และภาคเอกชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้ เพื่อขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

ศ.นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า AI ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ บริษัทสตาร์ตอัป พัฒนาการใช้ AI เพื่ออ่านผลภาพเอกซเรย์ทรวงอก (Chest  X-ray) ทางการแพทย์และสร้างรายงานทางการแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอก ได้ผ่านมาตรฐานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขแล้ว  ให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช  ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก รวมทั้งโรงพยาบาลอื่น ๆ ในราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อโปรแกรม AI มาจากต่างประเทศ ลดงบประมาณค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลในประเทศไทย  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กำลังพัฒนาไปยังโรคอื่น ๆ ในอนาคตจะวิจัยและพัฒนาสร้าง AI ใช้ในโรงพยาบาลเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วน รวมถึงในวงการแพทย์ ในประเทศไทยผู้ป่วยเบาหวานกว่า 6 ล้านคน ราว 15–20% เสี่ยงภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แต่มีจักษุแพทย์เฉพาะทางเพียง 250 คน  ได้ศึกษาทดลองใช้ AI ใน 13 เขตสุขภาพจากบุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วมการตรวจคัดกรองโรคจอประสาทตา พบว่า การตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์มีความไว (sensitivity) ร้อยละ 74 มีความแม่นยำ (specificity) ร้อยละ 98 ขณะที่ตรวจโดยใช้ AI ให้ความไวที่สูงกว่ามาก ร้อยละ 97 แม่นยำร้อยละ 96 หรือมีความแม่นยำจะใกล้เคียงกัน แต่ AI ตรวจคัดกรองโรคได้รวดเร็วกว่า ช่วยลดเวลารอคอยการตรวจ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการของประชาชน ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยงภาวะสูญเสียการมองเห็นและความพิการอย่างมีประสิทธิภาพ

รายงานแจ้งว่า การพัฒนา AI สำหรับการแพทย์จำเป็นต้องใช้ข้อมูลภาพคุณภาพสูงปริมาณมาก จึงก่อตั้ง Medical AI Consortium ด้วยแนวคิด “ร่วมแชร์ เชื่อม ใช้” เป็นกลไกการแบ่งปัน ใช้ประโยชน์ข้อมูลทางการแพทย์อย่างมีธรรมาภิบาล มีแพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform) พัฒนาโดย เนคเทค สวทช. เป็นแพลตฟอร์มกลางดิจิทัล รวบรวม จัดเก็บ บริหารจัดการ และให้บริการข้อมูลแก่สมาชิกในเครือข่ายและคนทั่วไป ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลและมาตรฐานคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)