ข่าวประชาสัมพันธ์

สคส.ปี68 เข้มคุ้มครองข้อมูลบุคคลแก้ละเมิด

PDPC เข้ม เปิดแผนคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลปี 68 ติวผู้บริหารระดับสุงหน่วยงานรัฐ เอกชน ออกประกาศเครื่องหมายมาตรฐานคุ้มครองข้อมูล สร้างหลักสุตรดูแลข้อมูล แจงบ้าน คอนโด สถานประกอบการมีกล้องวงจรปิด ต้องทำอย่างไร เก็บข้อมูลชีวภาพเข้าข่ายเกินสมควร

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.- PDPC) กล่าวว่า ในปี 2568-2571 สำนักงานฯ ทำแผนปฏิบัติการ 4 ปี รองรับการขยายตัวของสังคม การทำงานที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล วางกลยุทธ์การทำงานเชิงรุก แก้ปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ทำตลอดต่อเนื่อง 2 ปีที่ผ่านมา

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม

ตามแผนงานจะอบรมผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐและเอกชน การออกประกาศเครื่องหมายมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Trust mark) การกำหนดหลักสูตรผู้ดูแลข้อมูล (DPO) การขยายศูนย์บริการและรับเรื่องร้องเรียนในภูมิภาคเพื่อให้เข้าถึงประชาชน รวมถึงเนื้อหาด้านอื่น ๆ

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC มีบทบาทหน้าที่ให้ความรู้ คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 นโยบายหลักของ PDPC คือสร้างความตระหนักรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแก่ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล

การจัดงาน PDPC Synergy for All ช่วงเช้าวันที่ 1 ตค 67 ที่โรงแรมแกรนด์อัศวิน คอนเวนชั่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมให้ข้อมูล ประกอบด้วย ดร.นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สรุปบทบาทความคืบหน้าและแผนการดำเนินงานด้านกฎหมายและกฎหมายลำดับรอง พลเอก เดชา พลสุวรรณ ประธานกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สรุปผลการกำกับดูแลและการประสานงานกับคณะกรรมการชุดต่าง ๆ  ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สรุปภาพรวมของแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ ดร.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้เชี่ยวชาญ สรุปแนวทางการพิจารณาเรื่องร้องเรียนและคดีที่อยู่ในการพิจารณา  

ดร.ไพบูลย์ กล่าวกรณีข้อสงสัยและข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการติดตั้งกล้องวงจรปิด ว่าประชาชนทั่วไปที่ติดตั้งกล้องบริเวณบ้านเพื่อป้องกันอาชญากรรม ใช้ได้ตามปกติ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้ากล้องถ่ายติดภาพของบุคคลภายนอกแล้วเจ้าของกล้องเอาภาพไปใช้ประโยชน์หรือทำให้บุคคลในภาพเสียหาย เช่นเอามาขยายเผยแพร่ทำให้เสียหายหรือเสื่อมเสีย กรณีนี้ผู้เสียหายอาจจะร้องมาที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็จะถูกสั่งให้ลบ 

ดร.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ

ส่วนกล้องวงจรปิดที่ติดตามสำนักงาน สถานที่สาธารณะทั่วไปสถานประกอบการ สถานที่ราชการ บริษัท จะแตกต่างกับการติดที่บ้าน ต้องมีป้ายแจ้งว่าบริเวณนั้น มีกล้องวงจรปิด ตามที่กฎหมายกำหนด เจ้าของสถานที่มีหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล คนที่เดินผ่านจะได้ทราบ และระมัดระวัง ต้องมีนโยบายคุ้มครองข้อมูลบุคคลว่าเก็บอะไรบ้าง ทำลิงค์หรือคิวอาร์โค้ด ให้สแกนหรือเช็กได้ ตามสำนักงานอาจประกาศตรงเคาน์เตอร์ทางเข้า ที่จอดรถห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆต้องมี 1มีป้ายบอก  ส่วนการเก็บรักษาข้อมูล กรณีเจ้าของอาคารเก็บเอง ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย กำหนดลำดับชั้น ไม่ให้คนทั่วไปเข้าได้ ใครจะขอดูต้องแจ้งความหรือมีหลักฐาน มีคำขอจากศาลเท่านั้น กรณีทั่วไปเปิดเผยไม่ได้

สำหรับคอนโดมิเนียมพักอาศัย โดยทั่วไปต้องมีบัตรผ่าน ปัจจุบันใช้ใบหน้าหรือลายนิ้วมือ แต่ข้อมูลใบหน้ากับข้อมูลลายนิ้วมือชีวภาพ กฎหมายถือเป็นข้อมูลอ่อนไหวพิเศษ ถ้าเอาข้อมูลนี้ไปใช้ โดยไม่มีมาตรการป้องกัน หากเกิดรั่วไหล มีผู้เอาใช้ในทางอาชญากรรม  ผู้ดูแลมีโทษปรับค่อนข้างสูงประมาณ 5 ล้านบาท หรืออาจมีโทษทางอาญา ดังนันคอนโดต่างๆ ใช้กล้องได้ แต่มี 3 ข้อ 1. ใช้เพื่อรักษาความปลอดภัย 2. ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลไม่ให้รั่วไหล มีลำดับชั้นการเข้าถึงโดยใครได้บ้าง โดยปกติเข้าไม่ได้ 3. ถ้ามีข้อมูลรั่วไหล ต้องแจ้งสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภายใน 72 ชั่วโมง มิฉะนั้น อาจจะมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งหมดมีขึ้นป้องกันคนที่เป็นผู้อาศัย  กรณีบุคคลภายนอกเข้ามา จึงไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลชีวภาพ จดชื่อนามสกุลหมายเลขบัตรประชาชนเท่านั้นเอง การสแกนใบหน้า ลายนิ้วมือ จะเป็นการเก็บข้อมูลเกินสมควร