ข่าวทั่วไป

ลุ่มเจ้าพระยาเจอน้ำเหนือรุก2เขื่อนเทเพิ่ม

ลุ่มเจ้าพระยาสถานการณ์เริ่มไม่น่าวางใจ เขื่อนเจ้าพระยา  ป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มการระบาย โผงเผง บางบาล เสนา ผักไห่ ระดับสูงขึ้น  น้ำทะเลหนุนซ้ำ เชียงใหม่แนวโน้มลดลง

๐เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ระบายน้ำเพิ่ม

กรมชลประทาน แจ้งเตือนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ปรับเพิ่มการระบายน้ำ  เนื่องจากมีน้ำสะสมจากฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ไหลลงเขื่อนฯอย่างต่อเนื่อง  และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 

ปัจจุบัน (26 ก.ย.67) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณเก็บกัก 545 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% (ระดับเก็บกักสูงสุด 960 ล้าน ลบ.ม.) ยังรับน้ำได้อีก 415 ล้าน ลบ.ม.  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม  จึงทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได  ดังนี้

วัน

เวลา

อัตรา(ลบ.ม./วินาที

เพิ่มเป็น(ลบ.ม./วินาที)

26 ก.ย. 67

16.00

200

220

27 ก.ย. 67

06.00

220

240

28 ก.ย. 67

06.00

240

260

 

ส่งผลให้ระดับแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีก 0.60 – 0.80 เมตร เป็นระดับที่ยังอยู่ในลำน้ำไม่ส่งผลต่อพื้นที่ริมตลิ่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมตลิ่งและพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังระดับน้ำและการแจ้งเตือนจากหน่วยราชการอย่างใกล้ชิด หากระดับเพิ่มสูงขึ้น และจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจะแจ้งให้ทราบต่อไป

๐เขื่อนเจ้าพระยาระบายเพิ่ม1600 ลบ.ม.แล้ว

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน รายงานเมื่อ17.00 น.วันที่ 26 กย.67 ว่า ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีฝนตกชุกหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีน้ำไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง  ที่สถานนีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เวลา 14.00 น มีน้ำไหลผ่าน 1,877 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามลำดับ กรมฯ บริหารจัดการ ระบายน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคุมระดับน้ำด้านหน้าเขื่อนไม่ให้เกินระดับ +17.00 ม.(รทก. ) เพื่อรักษาตัวเขื่อนและส่งผลกระทบกับพื้นที่ด้านเหนือและท้ายเขื่อนน้อยที่สุด เพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนอัตรา 1,600 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา , ต.ลาดชิด , ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำจากระดับน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มขึ้น และมีน้ำไหลผ่านเพิ่มมากขึ้น จะแจ้งให้ทราบต่อไป

28กย-2ตค.น้ำทะเลหนุน กทม.นนท์ สมุทรปราการระวัง

พื้นที่จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ กรมอุทกศาตร์ทหารเรือ ได้คาดการณ์ว่า วันที่ 28 กย.  2 ตค.67 จะเกิดน้ำทะเลหนุนอีกครั้ง ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำด้วยเช่นกัน

๐เชียงใหม่แนวโน้มท่วมลดลง

          สำนักงานชลประทานที่ 1 จ.เชียงใหม่ โดยนายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผอ.สำนักงานฯ ออกประกาศฉบับที่ 11/2567 เมื่อ 18.30 น.วันที่ 26 กย. 67ผ่านเฟซบุ๊ก แจ้งสถานการณ์น้ำ จ.เชียงใหม่ว่า สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัดได้ 4.54 ม.สูงกว่าตลิ่ง 0.84 ม. ปริมาณน้ำ 544.40  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาทที) ยังอยู่ในระดับวิกฤติ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

สถานี P.67 บ้านแม่แต อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ (อยู่เหนือเมืองเชียงใหม่ 38 กม.) วัดได้ 13.10 ม.ต่ำกว่าตลิ่ง 0.70ม. ปริมาณน้ำ 404.10 ลบ.ม./วินาที อยู่ในระดับปกติ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานชลประทานที่ 1 จะติดตาม/เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และรายงานให้ทราบ อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ สถานการณ์น้ำหลากสูงสุดที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบให้บางพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่เกิดน้ำท่วมขัง สำนักงานชลประทานที่ 1 จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย ส่งเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมเจ้าหน้าที่บูรณาการช่วยเหลือ บรรเทาผลกระทบที่มีต่อประชาชนต่อไป

วันที่ 26กย.67 กรมชลประทาน ได้เผยแพร่ข้อมูลทางเฟซบุ๊ก เรื่องน้ำท่วมเชียงใหม่ ไหลไปไหนต่อ ระบุว่า  สถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ มีคนสงสัยว่า น้ำจะไหลลงไปที่ไหนต่อ กรมชลฯมาอัปเดตข้อมูลว่า น้ำหลากจากแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่ ไหลไปที่จ.ตาก ลงสู่เขื่อนภูมิพล ซึ่งรับน้ำได้ทั้งหมด และยังเก็บไว้ใช้ปีหน้าได้ด้วย

๐คาด72ชม.เหนืออีสานยังวางใจไม่ได้

คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) แจ้งพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล่วงหน้า 72 ชั่วโมง (วันที่ 26 กันยายน 2567)

ภาคเหนือ 11 จังหวัด  เชียงราย เชียงใหม่ ตาก พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี

ภาคกลาง 2 จังหวัด  นครปฐม พระนครศรีอยุธยา

ภาคตะวันออก 1 จังหวัด  ปราจีนบุรี

อิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมฝ่ายตะวันออกบริเวณอ่าวไทย ภาคใต้ตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งทางภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากจากฝนตกหนักสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและที่ลุ่ม